3. แนวทางการพัฒนาที่สำคัญ และเรื่องเล่ากรณีศึกษา
หน้าห้องจ่ายยาในอดีต
ญาติผู้ป่วย : หมอหื้อนอนโฮงบาล ยื่นไว้ในซ้านี้แม่นก่อ(ถามพร้อมยื่นใบสั่งยาสีชมพูและใบcopy doctor order สีเหลืองใส่ตะกร้า)
เภสัชกร / เจ้าหน้าที่ห้องยา: เจ้า/ครับ … วางไว้แล้วรอกำ
จากนั้นเภสัชกรหรือเจ้าหน้าที่ห้องยาก็จะก้มหน้าก้มตาเขียน ชื่อ - สกุล-HN- สิทธิผู้ป่วย และคัดลอกรายการยาที่แพทย์สั่งลงในใบบันทึกการใช้ยาผู้ป่วยในโดยมีการสื่อสารกับผู้ป่วยหรือญาติน้อยมาก พอเขียนเสร็จก็พิมพ์ฉลากยา จัดยาและตรวจสอบยาส่งให้ผู้ป่วยหรือญาติ พร้อมกับบอกว่า “ เอายาเข้าไปหื้อพยาบาลตังใน” แต่เดิมพวกเราค่อนข้างไว้วางใจแพทย์หรือพยาบาลที่เขียนระบุ ชื่อยา ขนาดยา ความถี่ วิธีให้ยาให้ผู้ป่วย เพราะคิดว่าคงมีการซักประวัติหรือตรวจสอบเวชระเบียนดีแล้ว อย่างมากถ้าอ่านลายมือแพทย์ไม่ออกพวกเราก็จะโทรกลับไปสอบถามเพิ่มเติม ดีหน่อยก็เดินไปถามด้วยตนเองแล้วแก้ไขให้ถูกต้อง แต่ไม่ได้ตรวจสอบหรือซักถามเพิ่มเติมว่าผู้ป่วยเคยกินยา ได้รับยาจากที่อื่นหรือเป็นโรคอะไรมาก่อน เพราะยังไงแพทย์ก็ต้องเข้าไปตรวจวินิจฉัยผู้ป่วยอีกครั้งในวันพรุ่งนี้
หน้าห้องจ่ายยาปัจจุบัน
ญาติผู้ป่วย : หมอหื้อนอนโฮงบาล ยื่นไว้ในซ้านี้แม่นก่อ ( ถามพร้อมยื่นใบสั่งยาสีชมพูและใบcopy doctor order สีเหลืองใส่ตะกร้า)
เภสัชกร / เจ้าหน้าที่ห้องยา: เจ้า / ครับ… มียาเก่าหรือยาเดิมคนไข้มาตวยก่อ (บางครั้งไม่ต้องถามเห็นถุงยามาพร้อมเลย)
จากนั้นเภสัชกรหรือเจ้าหน้าที่ห้องยาก็ก้มหน้าก้มตาตรวจสอบยาเดิมที่ผู้ป่วยเคยได้รับในอดีต เพิ่งจะได้รับหรือกำลังจะได้รับ ( ไม่ได้ด้วยเล่ห์ ก็ด้วยกล ไม่ได้ด้วยมนต์ ก็ด้วยคาถา) ถ้าไม่เห็นยาเดิมก็จะตรวจสอบประวัติในคอมพิวเตอร์ก่อน ( ประวัติการใช้ยาเดิมของผู้ป่วยจากโรงพยาบาลเวียงป่าเป้าทั้ง OPD และ IPD) แล้วขอให้ญาติหรือผู้นำส่งกลับไปเอายาเดิมของผู้ป่วยถ้าบ้านอยู่ไม่ไกลจากโรงพยาบาลมากนัก บางครั้งยังไม่ทันพูดหรือถาม ญาติจะบอกก่อนว่า “ ฝั้งฮีบไม่ได้เอายาเก่ามาตวย จะกลับไปเอามาหื้อ” โดยเฉพาะรายที่เป็นโรคเรื้อรังจำเป็นต้องได้รับยาที่จำเป็น ต่อเนื่อง และผู้ป่วยที่ส่งต่อกลับมารักษาเราจะใส่ใจมากเป็นพิเศษ ยกตัวอย่าง แม่ตา มาชื่น อายุ 64 และพระบุญเริง พิรารัตน์ อายุ 77 ไม่เคยลืมที่จะนำยาเดิมมาด้วยทุกครั้ง แม้จะนอนโรงพยาบาลทุกเดือน เดือนละ 2-3 ครั้ง แม่ตา admit ด้วย COPD e- AE แต่มีโรคร่วมเป็น AF ส่วนพระบุญเริง admit ด้วย 7 โรคร่วม (DM, HT, Hyperlipidemia, CRF, COPD, Gout, CHF) ได้รับยาไม่ต่ำกว่า 10 รายการ นอกจากนี้ญาติโยมที่เป็นห่วงยังพาหลวงพ่อไปโรงพยาบาลอื่นอีก 2-3 แห่งได้ยามาอีกหลายขนาน บางครั้งได้ยาชนิดเดียวกันแต่ต่างบริษัท ต่างขนาด ต้องทำความเข้าใจเพื่อไม่ให้ใช้ยาซ้ำซ้อน การได้ตรวจสอบยาผู้ป่วยและประวัติเดิมทุกครั้งทำให้แพทย์และเภสัชกรไม่ละเลยโรคร่วมที่ผู้ป่วยเป็นทำให้ได้รับยาที่จำเป็นและต่อเนื่อง พ่อตา ติ๊บสม อายุ 72 ปี มานอนโรงพยาบาลด้วยอาการท้องเสีย แต่จากการตรวจสอบยาที่ญาตินำมาด้วยทำให้ทราบว่ามียาจากโรงพยาบาลอื่นที่จำเป็นสำหรับรักษา OA และไม่มีในโรงพยาบาลของเรา หน้าซองยาพิมพ์วิธีใช้ยาไม่ตรงกับที่ผู้ป่วยให้ข้อมูล จึงมีการตรวจสอบข้อมูลกลับไปยังโรงพยาบาลแห่งนั้นปรากฏว่าพิมพ์ฉลากยาผิดจริง ๆ จึงแก้ไขข้อมูลหน้าซองยาให้ถูกต้อง พ่อผล ศรีสุวรรณ์ ได้ยาที่ต้องระมัดระวังการใช้เป็นพิเศษ เช่น warfarin, digoxin, colchicin ซึ่งบ่งใช้ให้รับประทานวันเว้นวัน หรือเฉพาะวันจันทร์ กับวันพฤหัสบดี เป็นต้น นอกจากนั้นรายที่มีปัญหา เช่น ไม่มีซองยา จัดยาเป็นชุดโดยไม่ระบุวิธีบริหารยา จะต้องมีการตรวจสอบกลับไปยังแหล่งที่มาของยาพร้อมแจ้งแพทย์หรือบันทึกในสหสาขาวิชาชีพทุกครั้ง โดยเฉพาะข้อมูล เวลาที่ได้รับการบริหารยาครั้งล่าสุด เป็นอีกอันซึ่งสำคัญต่อการทำให้เกิดการเชื่อมต่อ- ลงรอย โดยเฉพาะยาฆ่าเชื้อชนิดฉีดที่ได้รับต่อจากโรงพยาบาลอื่นเราต้องตรวจสอบ พร้อมใช้ให้ต่อเนื่องทันเวลา
การมีระบบตรวจสอบรอบด้าน ประสานหาข้อยุติ (Reconciliation) ทำให้มีการสื่อสารมากขึ้นระหว่างองค์กรกับผู้ป่วยหรือญาติ ระหว่างคนในองค์กรและต่างองค์กร บวกกับการใช้นวัตกรรม CARD เตือน และสติกเกอร์ “ ยาผู้ป่วยอยู่ห้องยา” ทำให้ทุกจุดที่ได้รับยาเดิมของผู้ป่วยมีการตรวจสอบโดยแพทย์ เภสัชกร พยาบาล และนำมาเก็บไว้ในห้องยาเพื่อตรวจสอบซ้ำ จัดและส่งมอบให้ผู้ป่วยทุกวัน การประสานหาข้อยุติ มีความจำเป็นเมื่อพบว่ามียาบางอย่างของผู้ป่วยขาดหายไป มียาบางอย่างที่ผู้ป่วยได้รับจากโรงพยาบาลอื่นแต่ไม่มีในโรงพยาบาลเราก็ต้องมาประสานหาข้อยุติกันด้วยเหตุผล ให้มั่นใจว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นการเปลี่ยนแปลงที่มีเหตุผล มิได้เกิดจากการละเลยหรือหลงลืม
ทบทวนปัจจุบันสู่อนาคต
เริ่มแรกก็ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ มีแนวทางปฏิบัติให้เข้าใจตรงกันทุกจุดที่เกี่ยวข้อง ตอนนี้ระบบเข้าที่เข้าทางมากขึ้น แต่ก็ต้องหมั่นทบทวนการทำงานเพื่อเพิ่มศักยภาพในการสื่อสาร และพัฒนานวัตกรรมใหม่ในองค์กรร่วมกัน นับ ๆ ดูแล้วเรามีข้อมูลการดูแลผู้ป่วยที่มานอนในโรงพยาบาลกรณีมียาเดิมผู้ป่วยตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2550 – ปัจจุบัน จำนวน 252 ราย โดยผู้ป่วยทุกราย ได้รับการให้คำปรึกษาแนะนำด้านยา การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และมีการประเมินซ้ำกรณีที่มีการนัดติดตามการรักษาหรือมา re-admit ถ้าเป็นเมื่อก่อนเราจะไม่มีการตรวจสอบรอบด้าน อย่างดีก็เพียงสอบถามผู้ป่วยว่าเคยกินยาอะไรมาบ้าง ไม่เคยเห็นยาจริง ๆ ของผู้ป่วย บางรายก็หลง ๆ ลืม ๆ คาดเดาไม่ได้มาเป็นยาอะไร เกิดช่องว่างด้านความปลอดภัยด้านยา ไม่มีการเชื่อมต่อ และสูญเสียยาโดยไม่จำเป็น
Medication reconciliation (การตรวจสอบรอบด้าน ประสานหาข้อยุติในเรื่องยา) จึงมิได้เป็นเพียงรูปแบบหรือนวัตกรรมที่วางไว้ แต่หมายรวมถึงภาระหน้าที่ของพวกเราที่จะเสริมพลังให้ผู้ป่วยและครอบครัวมีความรับผิดชอบต่อการรับรู้ ความเข้าใจและการจัดการด้านยาทั้งในระหว่างที่ดูแลตนเองอยู่ที่บ้าน เมื่อมารับบริการจากโรงพยาบาล และเมื่อส่งต่อไปรักษาที่อื่นเพื่อลดความคลาดเคลื่อนทางยา เพิ่มประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการดูแลรักษาผู้ป่วยรวมถึงการประหยัดค่าใช้จ่ายด้านยาที่ต้องสูญเสียไป
|